เปรียบเทียบรหัสคอมพิวเตอร์เป็นกฎหมาย และแฮกเกอร์เป็นนักกฎหมาย

นักเขียนโปรแกรมบางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายก็เหมือนการเขียนโปรแกรมที่มีมานานนับร้อยปี เพราะการเขียนโปรแกรมสร้างกฎเกณฑ์เพื่อเป็นกระบวนการให้คอมพิวเตอร์ปฏิบัติตาม (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความของ Bloomberg) ซึ่งแนวคิดนี้คล้ายคลึงกับกฎหมายและการทำสัญญาที่นิยามข้อตกลงและเงื่อนไขเพื่อเป็นแนวทางให้ปฏิบัติตามเช่นกัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีคนเก่ง ๆ หลายคนทำงานในโครงการเช่น legalese.io ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างภาษาโปรแกรมที่สามารถแปลให้เป็นภาษากฎหมายได้

 

เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของไทย การถูกล้วงข้อมูลโดยแฮกเกอร์ของฮิลลารี คลินตัน และกรณี Ethereum DAO hack ผมขอเสนอให้เราทำความเข้าใจกับวิธีการบริหารจัดการการเข้าถึงคอมพิวเตอร์และเครือข่ายใหม่ หากรหัสคอมพิวเตอร์สามารถแปลให้เป็นภาษากฎหมายได้ ทำไมเราจะสามารถคิดเทียบรหัสคอมพิวเตอร์ให้เสมือนกฎหมาย และการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาตก็เป็นเพียงผลข้างเคียงของการเขียนรหัสที่ยังไม่ดีเพียงพอไม่ได้? เพราะนี่ก็เป็นผลข้างเคียงของการใช้ภาษาในกฎหมายที่ผู้มีส่วนร่วมในการฟ้องร้องคดีต้องยอมรับ

ผมขอเสนอเพิ่มเติมว่า ในเมื่อทนายความซึ่งสามารถใช้ช่องโหว่ในสัญญาหรือกฎหมายให้เป็นประโยชน์มักถูกมองว่าเป็นผู้มีความสามารถ แฮกเกอร์ก็ควรถูกมองในลักษณะเดียวกัน แน่นอนว่ามีประเด็นเรื่องการกำหนดกรรมสิทธ์ส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว และยังคงมีประเด็นเรื่องความเสียหาย ความสูญเสีย และผลกระทบด้านลบอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึงอีก อย่างไรก็ดี การแฮกข้อมูลหรือขั้นตอนการเจาะเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ส่วนมากเป็นเพียงการหาหนทางที่เป็นไปได้ในการเข้าสู่ระบบของข้อตกลงและเงื่อนไขที่ควบคุมระบบนั้น ๆ ที่ผู้ออกแบบระบบไม่ได้คิดถึงมาก่อน ดังนั้น เหล่าแฮกเกอร์ก็ควรจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเช่นเดียวกับที่นักกฎหมายได้รับ เพื่อเป็นการจัดสรรความรับผิดชอบที่สมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น

ผลลัพธ์ที่จะได้คือ แฮกเกอร์ที่เจาะเข้าระบบข้อมูลสาธารณะได้จะสามารถนำไปสู่การออกแบบระบบที่มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้นและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการแฮกระบบคอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกับการที่นักกฎหมายสามารถนำไปสู่ระบบยุติธรรมและเอกสารทางกฎหมายที่ดีขึ้นได้ ในสภาพแวดล้อมที่การแฮกข้อมูลเป็นเรื่องถูกกฎหมาย หากธนาคารแจ้งว่าระบบของธนาคารมีความมั่นคง มันก็คงจะมั่นคงจริงๆ

Share

CC BY 4.0 This work is licensed under a Creative Commons Attribution 4.0 International License.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *